การประชุมแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อหารือแนวทางการผ่อนปรนมาตรการ 3 : 1 (ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีจากเดิมหากนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนได้) เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ที่มีกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโต้โผนัดหารือผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว มันสำปะหลัง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกร สมาคมโรงงานอาหารสัตว์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นควรให้ผ่อนคลายมาตรการ 3 ต่อ 1 เป็นไม่มีการกำหนดสัดส่วนเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตและสามารถช่วยลดภาระราคาอาหารสัตว์ได้
กระทั่งการประชุมล่าสุด ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง ผู้เลี้ยงสัตว์ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานการประชุม แม้ว่ายังไร้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดการผ่อนคลายเงื่อนไข แต่ทุกฝ่ายก็เข้าใจถึงสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อย และยินดีที่จะหารือถึงแนวทางการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวบนพื้นฐานข้อมูลที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตและสามารถช่วยลดภาระราคาอาหารสัตว์ได้
รายงานข่าวจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้วัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อผสมในสูตรอาหารสัตว์ กล่าวว่า การจำกัดช่วงเวลาในการนำเข้าจะกลายเป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคาสินค้าธัญพืชปรับตัวสูงขึ้นไปอีกเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เนื่องจากพ่อค้าคนกลางจะใช้เหตุผลนี้กดดันราคากับภาคผู้ผลิตและเกษตรกรผู้เพาะปลูก ซึ่งภาครัฐควรมองให้ถึงแก่นของปัญหา เพราะขณะนี้สินค้าไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรอีกต่อไป แต่ถูกเก็บไว้โดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้ปัจจุบัน (24 มีนาคม) ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับไปอยู่ที่ 13.00 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้ในสูตรอาหารสัตว์มากกว่า 50% ในขณะที่ภาคผู้เลี้ยงมีภาระต้นทุนการเลี้ยงที่ต้องแบกรับมาตลอดอยู่แล้ว เมื่อราคาธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง รวมทั้งข้าวสาลี ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตยูเครนและรัสเซีย ที่ผลักดันให้ราคาวัตถุดิบทั่วโลกแพงขึ้น กลายเป็นภาระหนักต่อเกษตรกรปลายทาง ที่สำคัญพ่อค้าวัตถุดิบเห็นช่องทางการทำกำไรในช่วงนี้ จึงอาจมีการกักตุนสินค้าโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมากในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามขึ้น
การเก็บสินค้าตุนไว้เพื่อเก็งกำไร “ถือเป็นการซ้ำเติมภาคผู้ผลิตและภาคผู้เลี้ยงสัตว์อย่างมาก” พ่อค้าคนกลางเพียงแค่ซื้อมาและขายออกไป แทบไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์มีต้นทุนให้ต้องแบกรับเป็นจำนวนมาก ทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่คิดเป็น 70-80% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าการจัดการ ค่าแรงงาน และการป้องกันโรคที่ต้องยกระดับขึ้นซึ่งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง การกักตุนผลผลิตข้าวโพด นำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นมาก และไม่มีเพดานราคาสูงสุด การเพิ่มขึ้นของราคาเป็นไปอย่างอิสระ ขณะที่ภาคผู้ผลิตและผู้เลี้ยงกลับต้องซื้อสินค้าในราคาที่ภาครัฐประกันรายได้ไว้กับผู้เพาะปลูก แต่กลับขอให้เกษตรกรกรตรึงราคาสินค้าปศุสัตว์เอาไว้ ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ เพื่อหวังช่วยเหลือผู้บริโภค โดยลืมคิดไปว่าคนเลี้ยงสัตว์ก็คือประชาชนและผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน
“หากยังปล่อยให้พ่อค้ากักตุนข้าวโพดไว้เช่นนี้ นอกจากประโยชน์จะไม่ตกถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่ดังที่รัฐบาลมุ่งช่วยเหลือมาตลอดแล้ว ทุกข์หนักจะตกแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่อาจต้องหยุดเลี้ยง หากภาคการผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถทนรับต้นทุนการผลิตที่สูงได้อีกต่อไป ย่อมตัดสินใจเลิกการผลิตอย่างแน่นอน ขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบสต๊อกข้าวโพด เพื่อให้เกิดผลเชิงจิตวิทยา ให้พ่อค้าปล่อยสต๊อกออกมาทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง”
สอดคล้องกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ มาโนช ชูทับทิม ที่กล่าวถึงราคาไข่ไก่ที่มีการปรับตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพด และข้าวสาลี ที่ขาดแคลนจากสงครามยูเครน ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ ปริมาณมากกว่า 30% ของผลผลิตทั้งโลก และต้นทุนในการขนส่งไข่ไก่ยังปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้ขณะนี้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่พุ่งสูงถึง 3.10-3.24 บาทต่อฟอง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องขยับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้นเป็น 3.40 บาท คาดว่ายิ่งสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ ก็ยิ่งจะทำให้ราคาไข่ไก่สูงขึ้นไปอีก
ปัญหาราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ คงมีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่พอจะช่วยเกษตรกรได้ อย่าให้คนเพียงกลุ่มเดียวได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ การปกป้องและดูแลผู้ผลิตและเกษตรกรตลอดห่วงโซ่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม คือทางออกของปัญหานี้ และควรปล่อยราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตทั้งหมดต่างปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย กันย์สินี ศตคุณ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business